วัดช้างค้ำวรวิหาร หรือ วัดหลวงกลางเวียง ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สร้างขึ้นโดยเจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เมื่อปี พ.ศ.1949 ภายในวัดประดิษฐานเจดีย์ช้างค้ำเป็นศิลปสมัยสุโขทัย สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีปูนปั้นช้างค้ำเพียงครึ่งตัวประดับอยู่รอบเจดีย์ โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้น ออกมาจากเหลี่ยมฐาน ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์หรือฐานบัว ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียงรองรับมาลัยลูกแก้วลดหลั่นกันไปเป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็นปูชนียสถานสำคัญที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัยจากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง

และยังมีพระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันไดด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลางเป็นประตูใหญ่และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวามีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลังหน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกันแล้วประดับที่ขอบเสาด้านหน้าทุกต้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบจำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลายกนกระย้าย้อยเหมือนลวดลายที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำ มีชื่อว่า พระเจ้าหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิวัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 4.50 เมตร สูง 6 เมตรศิลปะสมัยล้านนา เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน เป็นที่นับถือของชาวเมืองน่านว่าศักดิ์สิทธิ์ นอกจากพระองค์จะงดงามแล้ว ยังมีสังฆาฏิซึ่งปั้นลวดลายก้านต่อดอกประดับกระจกงดงาม ฐานชุกชีเป็นรูปตรีมุขรายล้อมไปด้วยพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ อีกหลายองค์

แผนที่วัดพระธาตุช้างค้ำ
